ออนไลน์ : 15
พิธีบายศรีสู่ขวัญ สามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า พิธีสู่ขวัญ เป็นพิธีการมงคลที่นิยมปฏิบัติกันแถบภาคเหนือและภาคอีสานค่ะ ตามความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาพร้อมขวัญที่คอยดูแลรักษา ติดตามเจ้าของให้สุขกายสบายใจเป็นปกติ ซึ่งพิธีบายศรีสู่ขวัญนี้ ชาวไทยเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่จะช่วยส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็งนั่นเอง
โดยพิธีบายศรีสู่ขวัญจะทำในช่วงวันสำคัญของชีวิต เช่น ขวัญนาค ขวัญเดือนสำหรับเด็กทารก การทำขวัญเมื่อหายป่วย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีการแต่งงานที่เป็นวันที่มีความสำคัญในชีวิตไม่แพ้วันอื่นๆ ย่อมต้องมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตคู่จ้ะ
สำหรับพิธีบายศรีสู่ขวัญในงานแต่งงานแบบไทยของภาคเหนือและอีสาน จะมีข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ หากมีพิธีนี้จะไม่มีพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรหรือพิธีรดน้ำสังข์ค่ะ ซึ่งพิธีบายศรีสู่ขวัญมักจะนิยมทำหลังจากเสร็จพิธีแห่ขันหมากและรับสินสอดแล้วนะคะ
เครื่องใช้ในการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญมีอยู่ 2 อย่าง คือพานบายศรีและด้ายดิบค่ะ พานบายศรีจะถูกจัดตกแต่งด้วยใบตองเป็นชั้น ที่นิยมมักจะเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น และ 7 ชั้น ทั้งนี้และทั้งนั้นก็แล้วแต่ความสามารถของผู้จัดเลยจ้ะ ชั้นล่างของพานบายศรีจะประกอบไปด้วย ดอกไม้ ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย ปั้นข้าว เงินฮางและมีดด้ามแก้ว ตั้งแต่ชั้นที่ 2 ขึ้นไปจะตกแต่งด้วยใบศรีและดอกไม้มงคลอย่างสวยงาม ส่วนในชั้นบนสุด จะมีใบศรี ด้ายผูกข้อมือ และเทียนเวียนหัวที่ทำจากขี้ผึ้งด้วย สำหรับด้ายที่ใช้จะต้องเป็นด้ายดิบและนำมาจับเป็นวงยาวพอที่จะผูกรอบแขนหรือรอบข้อมือได้ เมื่อวงแล้วให้เด็ดหรือดึงให้ขาด ห้ามตัดนะคะ เพราะโบราณถือว่าจะใช้มีดตัดเฉพาะด้ายที่มัดศพเท่านั้นค่ะ ที่สำคัญคือการทำพานบายศรีเพื่อใช้ในพิธีงานแต่งงาน จะถือเคล็ดให้คนจัดพานต้องเป็นคนดี บริสุทธิ์ มีผัวดียวเมียเดียว หรืออาจแค่มาสัมผัสพอเป็นพิธีแล้วให้ผู้มีความสามารถจัดพานต่อไปจนเสร็จก็ได้จ้ะ
นอกจากพานบายศรีและด้ายดิบที่ต้องเตรียมแล้ว ยังมีเครื่องใช้อื่นๆ อีก เช่น ขันบูชา พานขนาดกลางสำหรับวางผ้า 1 ผืน แพร 1 วา หวี กระจกเงา น้ำอบ น้ำหอม สร้อย แหวน เป็นต้น ข้างพานบายศรียังต้องมีแก้วน้ำเย็น แก้วใส่น้ำกระถินป่า และแก้วเหล้าสำหรับหมอขวัญจะได้ดื่มหรือจุ่มดอกไม้สำหรับพรมด้วยค่ะ จากนั้นพานบายศรีที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะวางไว้ในที่ที่เหมาะสมเพื่อรอเวลาทำพิธีถึงจะยกไปค่ะ